Checklist ของบรรจุภัณฑ์ที่ดี
ข้อควรรู้ในการออกแบบพัฒนา บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของท่าน
คราวนี้ขออนุญาตเข้าเรื่องว่าด้วยรายละเอียด และข้อควรรู้ในการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของท่านไม่ว่าจะดำเนินการด้วยตัวท่านเอง หรือว่าจ้างนักออกแบบเป็นผู้ดำเนินการให้
จะขอเริ่มด้วยคุณสมบัติอันพึงประสงค์ 5 ข้อของบรรจุภัณฑ์ หรืออาจเรียกว่า 5 C Checklist เพื่อให้แน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้น นอกจากสามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะของสินค้าแต่ละประเภทแล้วยังมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่บรรจุภัณฑ์ที่ดีพึงมี
1. Contain and Protect การบรรจุและคุ้มครอง
หน้าที่หลักของบรรจุภัณฑ์ คือ การคุ้มครองปกป้องสินค้าที่มีอยู่ภายในให้ถึงมือผู้ใช้ได้อย่างปลอดภัย บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รักษาคุณภาพของสินค้า รวมถึงกระบวนการในการจัดส่งหรือโลจิสติกส์ เช่น ขนาด น้ำหนัก ความเหมาะสม ความสะดวกในการจัดเก็บเป็นต้น
2. Communication การสื่อสาร
หน้าที่ต่อมา คือ การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ภายในอย่างชัดเจนทั้งข้อมูลที่บังคับให้แสดงตามกฏหมาย เช่น ส่วนผสม ส่วนประกอบต่างๆ จนไปถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ด้านการตลาด เช่น จุดเด่น หรือข้อดีต่างๆ ของสินค้า
3. Convenience ความสะดวกสบาย
เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความพึงพอใจแก่ลูกค้าและนำมาซึ่งการซื้อซ้ำ (Repeat Buy) เช่นลักษณะขวดที่หยิบถือสะดวก เทได้ง่ายหรือกล่องที่สามารถหิ้วพกพาได้สะดวก ปัจจัยด้านความสะดวกสบายถือเป็น Function ซึ่งอาจมองเห็นไม่ชัดเจน ณ จุดขาย แต่จะช่วยให้เกิดความพึงพอใจในระยะยาว ซึ่งช่วยเพิ่มความแตกต่างให้กับต้วผลิตภัณฑ์
4.Consumer Appeal แรงดึงดูดใจ
ถือเป็นจุดสำคัญที่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการซื้อสินค้าหรือที่กล่าวกันทั่วไปว่าบรรจุภัณฑ์ คือ นักขาย ไร้เสียง (Silence Salesman) การสร้างแรงดึงดูดใจเกิดได้จาก 2 ส่วน คือ
4.1 ลักษณะรูปแบบโครงสร้างของบรรจุภัณฑ์ เช่น ขวดน้ำผลไม้ที่มีลักษณะเหมือนลูกผลไม้ กล่องกระดาษที่มีรูปทรงเตะตา
4.2 รูปแบบของลวดลายหรือกราฟฟิกบนบรรจุภัณฑ์ เช่น ภาพ สี ตัวอักษรที่มีบุคลิกโดดเด่น รวมไปถึงข้อความที่กระตุ้นอยากให้ทดลองสินค้า เช่น Try Me, Have a Bite
5. Conserve Environment การรักษาสภาวะแวดล้อม
เป็นเรื่องที่อาจจะยังไม่ได้รับความสนใจนัก แต่เป็นกระแสที่กำลังมาแรงโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว บรรจุภัณฑ์ที่ดีควรใช้วัสดุที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาวะแวดล้อม นำไปหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ และที่สำคัญไม่ควรใช้วัสดุสิ้นเปลืองเกินไป
เห็นได้ว่าการ Checklist ในรายละเอียดของการออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์จะช่วยให้ท่านได้สำรวจข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้นที่พึงมีได้อย่างครบถ้วน เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการแข่งขันในปัจจุบันที่ผู้บริโภคเป็นผู้ตัดสินตลาด
Credit: VayoKnowledge.com
Posted in: Knowledge
Leave a Comment (0) ↓